วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จะถูกจะแพง ขอแดงไว้ก่อน

พอพูดถึงคำนี้ปุ๊บ เชื่อว่าถ้าให้นึกถึงชาติที่มีค่านิยม ความเชื่อต่างๆผูกพันธ์กับ สีแดง ก็เชื่อว่าหลายๆท่านก็ต้องนึกถึง จีน เป็นอันดับแรก

สีแดง สำหรับชาวจีนนั้น เชื่อกันว่าเป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล พลังอำนาจ ความกล้าหาญ ความเชื่อมั่น เห็นได้จาก ในเทศกาลตรุษจีนไม่ว่าจะเป็นซองอั่งเปา, ประทัด, กระดาษต่างๆที่นำมาห่อของสำหรับเซ่นไหว้ ล้วนแล้วแต่เป็นสีแดง เพราะต้องการสื่อถึง ความเป็นสิริมงคล ความมั่งมีศรีสุขมาสู่ครอบครัว นอกจากนี้จะสังเกตได้จาก ในพิธีงานมงคลต่างๆเช่น งานแต่งงาน ชุดบ่าว-สาว ล้วนแล้วแต่เป็นสีแดงทั้งสิ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ชาวจีนนั้นมีความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีที่ผูกพันกับสีแดงมาแต่โบราณ พอกล่าวถึงสีแดง กับ ชาวจีน เลยทำให้นึกถึงภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่จัดเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ในการมาเยือนสหรัฐอเมริการ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา



การปรากฎตัว ที่มาพร้อมกับชุดสีแดงของมิเชล โอบาม่า ในครั้งนี้ เป็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางจากสื่อต่างๆ รวมไปถึงคำวิจารณ์กันไปต่างๆนานาของดีไซเนอร์หลายๆท่าน มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ชุดราตรีสีแดงนี้ เป็นของห้องเสื้อ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน (Alexander McQueen) แบรนด์ดังจากเกาะอังกฤษ ออกแบบโดย ซาราห์ เบอร์ตัน ดีไซเนอร์ของห้องเสื้อแห่งนี้ ที่ได้ก้าวขึ้นมาแทน อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ดีไซเนอร์ที่ได้เสียชีวิตลงไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้ คอลเลคชั่น Alexander McQueen Resort 2011




การเลือกสวมชุดของ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ออกงานครั้งนี้ของมิเชล มีดีไซเนอร์ชาวอเมริกันบางท่านออกมาวิจารณ์ว่า ผิด ผิด ผิด!!! เป็นความผิดพลาดอย่างมากที่เลือกแบรนด์ต่างชาติ ทำไมมิเชลไม่เลือกชุดที่เป็นแบรนด์เชื้อสายอเมริกัน หรือไม่ก็จีน เพราะจะได้เป็นการช่วยโปรโมทการค้าระหว่างอเมริกา-จีน รวมไปถึงเป็นการสนับสนุนสินค้าของจีนในอเมริกาไปอีกทาง แต่ทำไมเธอถึงไปเลือกแบรนด์ดังฝั่งยุโรปแทน ซึ่งมิเชลก็ได้ออกมาบอกว่า การที่เธอใส่เสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์ของอเมริกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะช่วยให้ชาวจีนแห่กันมาสนับสนุนเสื้อผ้าแบรนด์อเมริกันซักหน่อยกับประโยคนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเต็มๆเลยเพราะ ใส่แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนแห่มาซื้อตามนะ


สี      
สีแดง เป็นที่รู้กันดี อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นถึง ความเชื่อและความหมายขอสีแดงที่สื่อไปในทางความหมายมงคลต่างๆ ก็ ไม่แปลกที่ เธอจะเลือกเสื้อผ้าสีแดงมาต้อนรับ ประธานาธิบดีจากจีน แต่อย่างอื่นหละ ทำไมต้องชุดราตรีสีแดง ของแบรนด์นี้ ทำไมไม่เป็นแบรนด์อื่น??

รูปแบบ       
เป็นชุดที่มาจากคอลเลคชั่น Alexander McQueen Resort 2011 ซึ่ง แรงบัลดาลใจหลักของคอลเลคชั่นนี้คือ แรงบัลดาลใจในเอเชียจะเห็นได้จาก ลายดอกไม้ที่ถูกพิมพ์บนผ้า (มองไปมองมาลายก็ดูออกจีนๆนะนี้) และที่สำคัญตัดเย็บจากผ้าไหมชนิดหนึ่ง เรียกว่า ซิลค์ ออร์แกนซ่า(Silk organza) ซึ่งนิยมทอกันมากในแถบแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River ) เป็นระยะเวลานานมาแล้ว รวมไปถึงใน มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang)  ของประเทศจีน แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีแต่ในจีนเท่านั้นที่ผลิตผ้าชนิดนี้มีทั้ง อินเดีย, บังคาลอร์, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ตุรกี เป็นต้น ถึงตอนนี้ก็บอกได้เลยว่า ถึงจะเป็นยุโรป แต่ชุดนี้สื่อถึงเอเชียเต็มๆ และมีหลายๆจุดที่ถูกเชื่อมโยงไปสู่ ประเทศจีน อย่างเห็นได้ชัด

ห้องเสื้อ         
ทำไมต้องเป็น อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ไม่เป็นแบรนด์เชื้อสายอเมริกันหรือจีน  ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า การที่เลือกสวมใส่แบรนด์ชาติตนเอง หรือชาติที่มาเยือนนั้น มันดูเป็นการจงใจเกินไป ว่าง่ายๆประจบนั้นแหละ แล้วอีกอย่างคือ ดูเธออยากจะสื่อว่า อเมริกาไม่ได้อิงชาติตนเองนะ อเมริกาไม่ได้เข้าข้างหรือยกหางตนเองนะถึงแม้เธอจะมีสิทธิ์ที่จะทำก็ตาม แต่ เธอต้องการบอกให้โลกรับรู้ว่า อเมริกานั้นเปิดกว้างให้ความเสมอภาคกับทุกๆชาติ ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว เพราะเมื่อพิจารณาจาก ประเด็นหลักๆในการเจรจาระหว่างอเมริกากับจีนในการมาเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ก็มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเจรจารวมอยู่ด้วย

อีกประเด็นหนึ่ง จริงอยู่ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน เป็นแบรนด์ดังเชื้อสายอังกฤษ แต่ใครจะรู้บ้างว่า แบรนด์หรูจากฝั่งฝรั่งเศสอย่าง กุชชี่ (Gucci Group) ได้ซื้อหุ้นในบริษัท อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน  51% ในปี ค.ศ. 2000 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับเป็นหุ้นซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ หลังจากที่กุชชี่ได้ซื้อหุ้น ก็ได้มีการเปิดร้านใหม่ในกรุงลอนดอน, มิลาน, นิวยอร์ค, ลาสเวกัส และอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเลยว่าแบรนด์นี้ เปรียบเสมือนการรวมตัวกันของสองแบรนด์ใหญ่ เพื่อต้องการสร้างการตลาดที่กว้างขึ้น การเลือกซื้อ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ก็นับได้ว่าเป็นการสนับสนุนทั้ง อังกฤษ และ ฝรั่งเศส นั้นเอง รวมถึงสื่อเป็นนัยๆถึงการพร้อมที่จะเปิดกว้างให้การสนับสนุนกับทุกชาติ ทุกชนชั้น โดยไม่ยึดชาติตนเองเป็นหลัก

การเลือกเสื้อผ้า ในครั้งนี้ของมิเชลล์ เธออาจจะต้องการสื่อว่า อเมริกาได้พยายามก้าวข้ามพรมแดนของตนออกสู่ภายนอก เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีกับชาติต่างๆ โดยไม่ได้ยึดติดกับชาตินิยม หรือวัฒนธรรมเดิมๆ




ประเด็ดสุดท้าย สินค้าที่ประทับว่า “Made in China” มักจะถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ได้มาตรฐาน ถึงแม้ว่าสินค้านั้นจะเป็นของแท้ (Authentic) ก็ตาม ด้วยค่านิยมนี้นี่เอง ยิ่งส่งผลให้ ผู้บริโภคไม่อยากซื้อสินค้าอะไรก็ตามที่จีนเป็นแหล่งผลิต ช่วง 2-3 ปีมานี้ จีนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้ประกาศแคมเปญโฆษณา เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับสินค้า Made in China ซึ่งเป็น โฆษณาส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าที่ผลิตขึ้นในจีน เลยทำให้นึกไปถึง พวงกุญแจของ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน อยู่รุ่นหนึ่งชื่อ Enamel Skull Key Ring ที่ออกมาในปี 2010 ซึ่ง พวงกุญแจรุ่นนี้มีทั้งที่เป็น Made in China (ซึ่งก็เป็นของแท้) และ Made in Italy ด้วย เลยทำให้นึกขึ้นมาว่า อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน อาจจะต้องการจะสื่อว่า  เห็นไหมว่าไม่ว่าจะเป็น Made in China หรือ Made in Italy ก็ไม่เห็นจะมีตรงไหนที่ต่างกันเลย คุณภาพก็เหมือนกันทุกประการ ต่างแค่ตราประทับของแหล่งผลิต ก็เป็นได้ แต่ที่เห็นได้ชัดๆ จาก เรื่องนี้ คือ การที่ แบรนด์ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน เริ่มที่จะมีสินค้าที่ผลิตที่จีนนั้นหมายถึง เป็นการช่วยสนับสนุนแรงงานจีน ดังนั้นการซื้อสินค้าของ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ก็เปรียบเสมือนช่วยส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงาน จีนต่อไป








หรือ แท้จริงแล้ว มิเชลล์ อาจจะไม่ได้คิดอะไรเลยก็ได้ อาจจะคิดเพียงแค่ว่า ชุดราตรีสีแดงชุดนี้สวยและเหมาะกับเธอ โดยที่ไม่ได้มีเหตุผลอื่นๆเป็นตัวช่วยในการการตัดสินใจ ก็เป็นได้



ดังนั้น เสื้อผ้า ก็เปรียบเสมือน ภาษา ภาษาหนึ่งที่สามารถสื่อความหมายต่างๆนานาออกมาจากตัวเองผ่าน ลวดลาย วัสดุในการตัดเย็บ และ สีสันของตัวเอง